4 ข้อดีจากการงีบระหว่างวันเพื่อสุขภาพจิตและความสามารถในการทำงาน
This post is also available in: English Español Русский Українська
คุณชอบงีบระหว่างการประชุมหรือเปล่า หัวหน้าคุณอาจจะไม่ชอบ แต่ขอบอกว่าคุณหมอจะต้องสนับสนุนอย่างแน่นอน งานวิจัยจำนวนมากพบว่าการงีบตั้งแต่ 20 จนถึง 40 นาทีเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าหรือเครียดมีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนั้นงานวิจัยชิ้นอื่นๆยังพบว่าการงีบที่ยาวนานสามารถช่วยให้สมองจัดการกับสิ่งต่างๆได้ดีขึ้น ดูเหมือนว่าการงีบจะช่วยได้หลายเรื่องจริงๆ
และนี่คือข้อดีจากการงีบเล็กๆน้อยๆระหว่างวัน
1. การงีบช่วยให้คุณทำงานได้ดีขึ้น
การงีบช่วยให้คุณมีสมาธิและลดความผิดพลาดระหว่างการทำงานให้น้อยลง “งานวิจัยจาก NASA กับนักบินและนักบินอวกาศพบว่าการงีบ 40 นาทีช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 34% และเพิ่มความตื่นตัวของร่างกายถึง 100%” มูลนิธิเพื่อการนอนหลับแห่งชาติของสหรัฐอเมริกากล่าว
2. การงีบมีผลยาวนานตลอดวัน
ความรู้สึกกระฉับกระเฉงที่คุณรู้สึกหลังจากการงีบจะอยู่กับคุณไปตลอดทั้งวัน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบง่วงหลังจากทานอาหารเที่ยงเสร็จ นักวิจัยกล่าวว่าการงีบในรถหรือในที่เงียบๆสามารถช่วยลดความเหนื่อยล้าระหว่างการทำงานในช่วงบ่ายได้
3. การงีบช่วยบรรเทาอาการจากโรคลมหลับได้
การงีบอย่างมีแบบแผนเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลในผู้ป่วยโรคลมหลับบางราย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการง่วงที่ไม่สามารถควบคุมได้ จากข้อมูลของศูนย์เวชศาสตร์การนอนหลับพบว่าการงีบ 20 นาที 3 ครั้งต่อวันสามารถช่วยลดอาการฟุบหลับได้
หรือหากคุณมีอาการนอนไม่หลับ การดื่มทาร์ตเชอร์รี่สักแก้วก่อนนอนจะช่วยให้คุณหลับสบายขึ้น โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าทาร์ตเชอร์รี่ช่วยให้ผู้ป่วยหลายคนหลับลึกได้ ด็อกเตอร์ Robert Oexman ผู้อำนวยการสถาบัน Sleep to Live กล่าว โดยในทาร์ตเชอร์รี่นั้นมีสารไฟโตนิวเทรียนท์และเมลาโทนิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้คุณนอนหลับได้ยาวนานขึ้นและรู้สึกเพลียน้อยลงหลังจากตื่นนอน
4. การงีบมีผลต่อสุขภาพจิตคล้ายกับการไปเที่ยวพักผ่อน
ไม่มีเวลาไปพักร้อนใช่มั๊ย การงีบเป็นอีกวิธีที่ให้ผลดีต่อสุขภาพจิตของคุณเหมือนกับการลาพักร้อนโดยไม่ต้องทำงาน และคงไม่มีอะไรที่จะง่ายไปกว่าการงีบแล้วล่ะ
Michael Breus นักจิตวิทยาคลินิกและผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับกล่าวว่าการงีบสั้นๆเป็นเหมือนกับ”การพักร้อนแบบมินิ” ซึ่งพนักงานที่งีบสม่ำเสมอจะมีความรู้สึกสดชื่น มีความเครียดน้อย และรู้สึกผูกพันกับงานของตัวเองมากกว่าปกติ และยังช่วยให้พวกเขามีสมดุลในชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นด้วย
คุณมีความเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับข้อดีของการงีบที่เรานำมาแบ่งปันในวันนี้ วางแผนงีบเป็นของตัวเองหรือยัง
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2020 และมีการแก้ไขเพิ่มเติม